MINDSET สำคัญอย่างไร

MINDSET สำคัญอย่างไร

     อย่างที่รู้กันแล้วนะครับว่า “Mindset” ที่ดีนั้น จะสามารถช่วยส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ โดยเขาได้แบ่งประเภทของคนออกตาม Mindset เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ “Fixed Mindset” กับ “Growth Mindset

     คนประเภท “Fixed Mindset” นั้นก็คือคนที่มีความคิด ที่ว่าความเก่ง ความฉลาดนั้นมีติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนประเภทนี้จะชอบทำงานง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก และหลีกหนีอุปสรรคเสมอ เป็นคนทำอะไรก็ชอบที่จะล้มเลิกง่ายๆ ชอบโทษคนอื่น และมีความคิดว่าจะต้องเลือกทำแต่งานที่ตัวเองถนัดเท่านั้น แต่ก็จะชอบแสดงออกว่าตัวเองเป็นคนฉลาดนะครับ อีกทั้งยังมีการป้องกันตนเองสูง ถ้าถูกวิจารณ์ตรงๆ ก็จะมองว่าเป็นการโจมตีทันที และมองว่าความสำเร็จของคนอื่นเป็นสิ่งคุกคามตัวเอง ก็จะพยายามสร้างเรื่องราวให้คนนั้นดูไม่ดี เพื่อตัวเองจะได้สบายใจขึ้น ซึ่งดูๆ ไปก็เหมือนคำที่ใช้อธิบายคนมองโลกในแง่ลบนะครับ

     คนอีกประเภทก็คือ “Growth Mindset” ก็จะตรงกันข้ามกัน คือเชื่อว่าคนเราสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เสมอ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ และเป็นคนที่ยอมรับได้ว่าตัวเองไม่รู้ หรือว่าโง่นั่นเอง เวลาทำงานก็จะทุ่มเทสุดความสามารถ แต่ข้อเสียก็คือมักจะเลี่ยงงานที่ง่ายไปหรืองานที่เคยทำมาแล้ว มองอุปสรรคต่างๆ ว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ชอบที่จะทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายตัวเอง และเข้าใจว่าทุกอย่างต้องใช้ความพยายามและเวลาในการทำ ชอบฟังคำวิจารณ์เพื่อนำไปปรับปรุง มองความสำเร็จของคนอื่นด้วยความชื่นชมและใช้เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งก็เหมือนกับคำอธิบายของคนที่มองโลกในแง่บวกอีกนั่นแหละ

     ทีนี้มาดูทางสมองกันสักหน่อย เขาว่าสมองเราเหมือนกล้ามเนื้อ ถ้าเราฝึกฝนอยู่เป็นประจำ ก็จะทำให้มันแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้นไม่ต่างจากออกกำลังกาย โดยได้มีการพิสูจน์กับคนที่ทำงานเดิมๆ อยู่เป็นประจำ เช่น คนขับรถแท็กซี่ พบว่าจะมีสมองบางส่วนที่ใช้สำหรับการรับรู้ด้านการมอง ใหญ่กว่าคนปกติทั่วไป เป็นต้น

     การพัฒนาของสมองจะเกิดขึ้นโดยการสร้างเส้นประสาทเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ยิ่งสมองสามารถเชื่อมต่อกันได้มากแค่ไหนก็จะทำให้เรายิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น เราจะมีความเข้าใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น เมื่อเห็นทุกอย่างสัมพันธ์กันไปหมด ฉะนั้นถ้าเราเป็นคนที่มี Mindset ที่ดี สมองก็จะเชื่อมโยงประสบการณ์ต่างๆ ในทางที่เป็นบวก ก็จะทำให้การพัฒนาทั้งด้านความคิด ปัญญา การตอบสนองต่อปัญหา ไปในแนวบวกเช่นเดียวกัน จึงทำให้เรามีประสิทธิภาพในทางบวกมากขึ้น (สามารถพัฒนาไปทางลบได้เช่นเดียวกัน ถ้าเราคอยแต่จะคิดหรือฝึกฝนสมองไปในทางลบ)

     ตัวอย่างข้างต้น ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีอีกเรื่องหนึ่ง แต่จำชื่อไม่ได้ละครับ เขาได้มีการศึกษาว่าคนที่ทำอะไรไม่สำเร็จบ่อยๆ นั้นจะกลายเป็นคนที่ทำอะไรก็ไม่สำเร็จไปตลอดชีวิต ตรงกันข้ามกับคนที่ทำอะไรสำเร็จ เขาก็จะทำสำเร็จอยู่อย่างนั้นเสมอ เขาได้อธิบายว่าอย่างนี้ครับ

     คนที่ไม่สำเร็จนั้น เขาจะเริ่มทำงานด้วยความเชื่อที่ว่าเขาทำมันไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว (เพราะอะไรเดี๋ยวรู้ครับ) และพอเชื่อว่าทำไม่ได้แล้ว เขาก็จะไม่ได้ลงแรงกับมันอย่างเต็มที่ แล้วก็ล้มเลิกง่ายๆ สุดท้ายก็จะบอกว่า “นี่ไง ว่าแล้ว ว่ามันต้องไม่สำเร็จ” ซึ่งจะยิ่งพอใจไปซะอีกที่ตัวเองคิดถูก แล้วพอไม่สำเร็จแบบนี้ เรื่องใหม่มาก็จะมีแนวโน้มที่จะไม่สำเร็จเหมือนกัน เพราะเขาจะคิดลึกๆ ว่าเขาทำไม่ได้หรอก สุดท้ายเขาจะอยู่ในวังวนแห่งความไม่สำเร็จต่อไปเรื่อยๆ

     ตรงข้ามกับคนที่ประสบความสำเร็จ เขาจะมีความเชื่อว่ายังไงๆ เขาก็ต้องทำมันได้แน่นอน ไม่ว่าจะยากแค่ไหน ขอให้เขาได้ทุ่มเทและพยายามกับมันละก็ รับรองว่าสำเร็จแน่นอน คิดแบบนี้เขาก็จะไม่ท้อแท้หรือล้มเลิกง่ายๆ เมื่อเจออุปสรรคเขาก็แก้ไขไป จะไม่มีจุดที่ว่ามันทำต่อไปไม่ได้แล้วเกิดขึ้น แบบนี้ไม่ต้องเดาครับ สุดท้ายเขาก็ต้องทำสำเร็จแน่นอน แล้วพวกนี้พอสำเร็จไปเรื่องหนึ่งเขาก็จะมั่นใจมากขึ้น เมื่อทำเรื่องใหม่ๆ ก็จะสำเร็จอีกเหมือนกัน สุดท้ายเขาก็จะอยู่ในวังวนของความสำเร็จไปเรื่อยๆ แบบนี้

     เขียนมายาวละครับ ท้ายนี้ คิดว่าคงจะพอภาพได้นะครับ ว่าความสำเร็จมันไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และเริ่มต้นด้วยความคิด หรือ Mindset นั่นเอง

Phowpinyo Shimbhanao

บทความโดย Phowpinyo Shimbhanao

เผยแพร่แล้ว 18 Sep 2022